งานด้านการศึกษาสงฆ์ ของ พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล)

  • พ.ศ. 2478-พ.ศ. 2481 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสุทธจินดา และวัดศาลาทอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
  • พ.ศ. 2482 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ และสำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2487 หลวงปู่เขียน ได้เข้ากราบฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลังจากที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคใหม่ ๆ โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นำไปฝาก ทั้งนี้ เพื่อประสงค์ให้หลวงปู่ท่านได้เป็นศาสนทายาทที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งด้านปริยัติธรรมและด้านปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสามเณรในภายภาคหน้า หลังจากที่ท่านได้ฟังธรรมและปฏิบัติได้ดีแล้ว ท่านจึงออกธุดงค์ กัมมัฏฐานไปตามป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดต่างๆ จนออกไปถึงประเทศลาว และแวะเวียนมาเข้ากราบฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นระยะ ๆ

หลวงปู่เขียน ทั้งอุทิศตน ทั้งบำเพ็ญปฏิบัติทางด้านประโยชน์ให่แก่ทางด้านพระพุทธศาสนาไม่น้อย ทั้งด้านการศึกษา ทางด้านการปกครอง ท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ต่อมาหลวงปู่เขียนได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ของวัดสุทธจินดา เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2490 ท่านได้บริหารวัด ช่วยสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับวัด ทั้งตั้งเป้าหมายสูง มีระเบียบกับสามเณรและภิกษุสงฆ์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการคดเลือกหมู่คณะให้ไปรับการอบรมเป็นนักเรียนครู และ นักเรียนการปกครอง ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เพื่อให้กลับมาเป็นบุคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส อนุสรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ" [4] ต่อมาท่านก็เดินธุดงค์ออกไปยังถ้ำจนเป็นที่พอแก่กาลแล้ว จึงกลับมาสู่มาตุภูมิและสร้างวัดรังสีปาลิวันในปัจจุบัน เพื่อนำพระภิกษุสามเณร ประชาชนศึกษาธรรมและประพฤติธรรมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และได้ช่วยเหลืองานทางด้านพระพุทธศาสนา จนตราบกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 [5]